กรรมวิธีการทำผ้าไหม

ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถันละเอียดอ่อนมาก นับแต่การเลือกหม่อนซึ่งเป็นพืชยืนต้น ลำต้นเป็นทรงพุ่ม เพื่อใช้เป็นอาหารให้แก่หนอนไหม ที่กินแล้วลอกคราบเป็นไหมออกมา จากนั้นจึงนำไปอบแห้ง แต้มน้ำที่สะอาดเพื่อให้รังไหมพองตัว แล้วสาวเส้นไหมนี้เก็บรักษาด้วยวิธีการดั้งเดิมแต่โบราณ ทั้งอุปกรณ์และขั้นตอน เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุดเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง ส่วนขั้นตอนการทอเป็นผืนผ้า จะมีวิธีทอและสอดใส่ลวดลายตามแต่ภูมิภาคแตกต่างกันไป ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้าจก ผ้าขิด ผ้าแพรวา ผู้ยกดอก เป็นต้น • การเลี้ยงไหม วงจรชีวิตของไหมหรือหนอนไหมใช้เวลาประมาณ 45 - 52 วัน หนอนไหมจะกินใบหม่อนหลังจากฟักออกจากไข่ประมาณ วันที่ 10 จากนั้นจะหยุดกินอาหารและลอกคราบ ระยะนี้เรียกว่า “ ไหมนอน ” ต่อจากนั้นจะกินนอนและลอกคราบประมาณ 4 ครั้งเรียกว่า “ ไหมตื่น ” ลำตัวจะมีสีขาวเหลืองใสหดสั้น และหยุดกินอาหาร ระยะนี้เรียกว่า “ หนอนสุก ” ช่วงนี้ผู้เลี้ยงไหม ต้องรีบแยกหนอนไหมสุกออกจากกองใบหม่อน และเตรียม “ จ่อ ” คืออุปกรณ์ที่จะให้ตัวไหมเกาะเพื่อชักใยห่อหุ้มตัว หนอนจะเริ่มพ่นใยได้ประมาณ 6-7 วัน ก็จะสามารถเก็บรังไหมออกจากจ่อได้ เส้นใยของหนอนเกิดจากการขับของเหลว ชนิดหนึ่ง มีสารโปร่งแสงเป็นองค์ประกอบ ใยไหมที่เห็นแต่ละเส้นจะประกอบด้วยเส้นใยเล็กๆ สองเส้นรวมกัน สามารถฉีก แยกออกจากกันได้ ทั้งนี้รังไหมแต่ละรังจะให้สายไหมที่มีขนาดแตกต่างกัน ชั้นนอกสุดของรังจะมีความละเอียดพอสมควร ชั้นกลางจะเป็นเส้นหยาบและชั้นในสุดจะเป็นเส้นไหมที่ละเอียดที่สุด ซึ่งหนอนไหมแต่ละตัวจะชักใยยาวไม่เท่ากัน อาจสาว ได้ยาวตั้งแต่ 350 - 1,200 หนอนไหมจะเจาะรังออกมาเป็นผีเสื้อเมื่ออยู่ในรังครบ 10 วัน ซึ่งผู้เลี้ยงจะคัดไหมที่สมบูรณ์ไว้ทำพันธุ์ ส่วนที่เหลือนำไปสาวไหมก่อนที่ผีเสื้อจะเจาะรังออกมา ซึ่งเส้นจะขาดและทำเส้นไหม • การสาวไหม เมื่อได้รับไหมสดจะต้องนำไปอบให้แห้ง จากนั้นนำไหมที่อบแห้งไปต้มในน้ำที่สะอาดที่มีคุณสมบัติ เป็นกลาง รังไหมจะเริ่มพองตัวออก ใช้ปลายไม้เกี่ยวเส้นใยออกมารวมกันหลายๆ เส้น การสาวต้องเริ่มต้นจากขุยรอบนอกและเส้นใยภายในรวมกัน เรียกว่า“ ไหมสาว ” หรือ “ ไหมเปลือก ” ครั้นสาวถึงเส้นใยภายในแล้ว เอารังไหมที่มีเส้นภายในแยกไปสาวต่างหากเรียกว่า “ เส้นไหมน้อย ” หรือ “ ไหมหนึ่ง ” ผู้สาวไหมต้องมีความชำนาญและทักษะจึงจะได้เส้นไหมที่มีคุณภาพดี เมื่อเติมรังไหมลงไปอีก รังไหมใหม่สามารถรวมเส้นกับรังไหมเก่าได้ โดยไม่ทำให้เส้นไหมขาด • การตีเกลียว การตีเกลียวไหมจะช่วยทำให้ผ้าที่จะทอมีความหนา หลังจากเอาไหมสองไหมสามออก ใช้ไม้คีบลักษณะคล้ายไม้พาย มีร่องกลางสำหรับคีบ เกลี่ยรังไหมกดให้เส้นไหมตีเกลียวแน่นดูเล็ก ต้องระมัดระวังและต้องอาศัยความชำนาญ และมีเทคนิคในการทำให้รังที่ต้มเกาะกันเป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการ ทำให้เส้นไหมพันหรือไขว้กันหลายๆ รอบ แล้วพักไว้ในกระบุง ต่อจากนั้นจะนำมากรอเข้า “ กง ” แล้วนำไปหมุนเข้า “ อัก ” เพื่อตรวจหาปุ่มปม หรือตัดแต่งเส้นไหมที่ไม่เท่ากันออก จึงเอาเข้าเครื่องปั่นเพื่อให้เส้นไหมแน่นขึ้น ก่อนที่จะหมุนเข้ากงอีกครั้ง เพื่อรวมเป็นไจ ซึ่งหนึ่งไจจะต้องหมุนกง 80 รอบ เรียกว่า “ ไหมดิบ ” เส้นไหมดิบที่ได้จะต้องทำการชุบให้อ่อนตัว โดยนำไปชุบน้ำสบู่อ่อนๆ ประมาณ 15-20 นาที แล้วนำไปสลัดและผึ่งลมให้แห้ง โดยหมั่นกระตุกให้เส้นไหมแยกตัวเพื่อนำไปเข้าระวิงได้ จากนั้นก็กรอเส้นไหมเข้าหลอดๆ ละเส้น แล้วดึงปลายไหมแต่ละหลอดเข้าไปรวมกัน ม้วนเข้าหลอดควบตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นก็นำไปตีเกลียวประมาณ 330 รอบ ต่อความยาว 1 เมตร จากนั้นก็นำไหมไปนึ่งหรือลวก เพื่อป้องกันมิให้เกลียวเส้นไหมหมุนกลับ หลังจากนั้นก็จะชุบน้ำเย็นแล้วกรอเข้าระวิง เรียกว่า “ ทำเข็ด ” ซึ่งจะทำให้เกลียวอยู่ตัว • การย้อมสี การย้อมสีไหมจะต้องนำไหมดิบมาฟอกเพื่อไม่ให้มีไขมันเกาะ โดยจะใช้ด่างจากขี้เถ้าไปฟอกไหม เรียกว่า “ การดองไหม ” จะทำให้เส้นไหมขาวนวลขึ้น แล้วจึงนำไปย้อม ในสมัยก่อนนิยมใช้สีจากธรรมชาติ เช่น สีแดงจากครั่ง , ผลและใบคำแสด , รากยอป่า , มะไฟป่า หรือรากของต้นเข็ม สีเหลืองจากแก่นของต้นเข สีจำปาหรือสีส้มจากดอกคำแสดหรือดอกกรรณิการ์ สีน้ำเงินจากต้นคราม สีเขียวจากเปลือกไม้มะหูด สีเขียวมะกอกจากแก่นไม้ขนุน เปลือกนนทรีและเปลือกต้นตะแบก สีไพลจากใบสัปปะรดอ่อนกับน้ำมะนาว สีน้ำตาลจะต้นหมาก สีม่วงจากต้นหว้า สีดำจากมะเกลือ , รากต้นชะพลูและสมอ แต่ปัจจุบันการย้อมด้วยสีธรรมชาติเริ่มหายไป เนื่องจากมีสีวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ ที่หาซื้อง่ายตามร้านขายเส้นไหมหรือผ้าไหม เมื่อละลายน้ำจะแตกตัว ย้อมง่าย สีสดใส ราคาค่อนข้างถูก ทนต่อการซักค?; อนข้างดี การย้อมด้วยสีธรรมชาติมีข้อดี คือ สีไม่ฉูดฉาด สีอ่อนเย็นตากว่าสีสังเคราะห์ จึงทำให้สีของผ้างดงามสัมพันธ์กับรูปแบบของผ้าพื้นเมือง สีธรรมชาติจะติดสีได้ดีในเส้นไหมและฝ้าย วิธีย้อมคือ การนำคั้นเอาน้ำจากพืชที่ให้สีนั้นๆ ต้มให้เดือด จากนั้นนำไหมชุบน้ำให้เปียกบิดพอหมาด กระตุกให้เส้นไหมเรียงเส้นจึงแช่ในน้ำย้อมสี นำไปผึ่งให้แห้ง จะได้ไหมสีตามต้องการ • การทอผ้า ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะออกมาเป็นผ้าผืนงาม การทอผ้าไหมจะประกอบไปด้วยเส้นด้าย 2 ชุด คือ “ เส้นด้ายยืน ” จะขึงไปตามความยาวผ้าอยู่ติดในเครื่องทอ หรือแกนม้วนด้านยืน อีกชนิดหนึ่งคือ “ เส้นด้ายพุ่ง ” จะถูกกรอเข้ากระสวย เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้ายพุ่งสอดขัดเส้นด้ายยืนเป็นมุมฉาก ทอสลับกันไปตลอดความยาวของผืนผ้า การสอดด้ายพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมแต่ละด้าน แล้วจึงวกกลับมา จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้าน ส่วนลวดลายของผ้านั้น ขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าของแต่ละท้องถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น